เกี่ยวกับเรา

ความเป็นมาของ กรรมการอิสลามฉะเชิงเทรา

จุดเริ่มต้นแห่งองค์กร เกิดขึ้นเมื่อ วันที่ 27 กรกฎาคม 2491 พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ. 2488 กระทรวงมหาดไทย โดยท่านจอมพล ป. พิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ได้แต่งตั้งให้ผู้มีชื่อต่อไปนี้เป็นคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา

 

1.นายอับดุลมายิด มัสเยาะ               ประธานกรรมการ

2.นายสุมน บูรณศิลป์                               กรรมการ

3.นายหะยีมัด หวังเกษม                          กรรมการ

4.นายหมัด มาคะมัน                               กรรมการ

5.นายหมัด หะซาเล็ม                               กรรมการ

6.นายมูฮำหมัด กอดีวี                              กรรมการ

7.นายคะมัน เลาะซำซู                        กรรมการ

 

ซึ่งถือเป็นกรรมการอิสลามชุดแรกของจังหวัดฉะเชิงเทราในการบริหารกิจการของศาสนาอิสลามในจังหวัดฉะเชิงเทรา จนระยะเวลาผ่านมาจนถึงคณะกรรมการอิสลามชุดปัจจุบันรวมแล้วประมาณ 72 ปี

ท่านประธานกรรมการอิสลามฉะเชิงเทรา ตวนฮัจยีอับดุลมายิด มัสเยาะ เฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง


ประธานกรรมการอิสลามฉะเชิงเทรา (ในอดีต)

1.ตวนฮัจยีอับดุลมายีด มัสเยาะ (ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 2491-2529 รวม 38 ปี)

2.อาจารย์สมัด บินสอั๊ด (ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 2530-2545  รวม 15 ปี)

3.อาจารย์ฮูเซ็น อีซอ (ระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 2546-2560  รวม 14 ปี)
 

 

ตวนฮัจยีอับดุลมายีด มัสเยาะ

(เกิด 2449 เสียชีวิต 2541 อายุ 92 ปี )

ประธานมายิด มัสเยาะ เกิดเมื่อปี พ.ศ.2499 ที่บ้านคลอง19 บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งลูกศิษย์จะเรียกกันติดปากว่า จูยี ท่านเป็นบุตรคนเล็กของโต๊ะกีหม่ำเลาะห์ มัสเยาะ กับโต๊ะเซาะ มัสเยาะ ซึ่งโต๊ะกีหม่ำผู้นี้เป็นอิหม่ามคนแรกของมัสยิดอัลอัซฮาร ครั้งที่มัสยิดยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล

ประธานมายิด มัสยเยาะ เรียนหนังสือชั้นต้นที่หมู่บ้านคลอง 19 เรียนอัลกุรอานและศาสนาเบื้องต้นจากบิดาของท่าน ต่อมาบิดาได้ส่งไปเรียนศาสนาที่พระโขนง ครูต่วน สุวรรณศาสน์ หลังจากนั้นได้ไปศึกษษต่อที่อิยิปต์ มหาวิทยาลัยอัลอัซฮัร อยู่หลายปี ในช่วงปลาย มารดาได้ถึงแก่กรรมจึงเดินทางกลับ และเริ่มสอนหนังสือตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ทั้งสอนอัลกุรอานและความรู้ด้านศาสนา ในทุกลักษณะ ซึ่งสมัยนั้นใช้ภาษาอาหรับและมลายู ซึ่งท่านก็สอนตลอดมาในช่วงชีวิตของท่าน


ท่านจุฬา ต่วน สุวรรณศาสน์ เป็นประธานพิธีวางรากฐานมัสยิดกลางฉะเชิงเทรา

 

ครั้นแม่ทางราชการได้กำหนดให้จังหวัดต่าง ๆ ที่มีมัสยิดมากพอสมควรจะต้องมีประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดขึ้น ซึ่งท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทราเกือบ 50 ปี เมื่อชราจึงลาออก

ในขณะที่ท่านสอนหนังสือนั้นท่านยังได้ไปสอนยังสถานที่ต่าง ๆ อีกด้วย เช่นที่โรงเรียนครูสอัด อับดุลเลาะห์ สะแกโดด และที่อื่นๆ ในกรุงเทพ ยิ่งกว่านั้น ท่านยังมีความพยายามที่จะจัดทำปทานุกรมอรับไทย หรือที่เรียกว่ากอมูส โดยพยายามที่จะศึกษาภาษาอังกฤษเพื่อจะมาเทียบเคียงกับงานวิชาการที่ท่านทำถึงขนาดขับเรือไปเรียนภาษาอังกฤษกับพลเรือตรี หลวงสมบูรณ์ยุทธวิชา ที่บ้านแคราย จนสามารถจัดทำปทานุกรมภาษาอาหรับได้สำเร็จเป็นคนแรกของประเทศไทย ที่ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ แต่ไม่ครบตัวอักษร ท่านก็ได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน ฝังที่กุบูรมัสยิดอัลอัซฮาร คลอง 19 อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

คัดมาจากเอกสาร สนง.คณะกรรมการอิสลามจังหวัดฉะเชิงเทรา อุละมาอในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน -2559

 

 

อาจารย์สมัด บินสอั๊ด

(เกิด 2467 เสียชีวิต 2556 อายุ 89 ปี)

ก่อนอื่นของกล่าวถึงนามสกุลเดิม คือ สุขถาวร ซึ่งสามาพี่น้องของบิดามีนามสกุล คือ สุขถาวร บินสอั๊ด และอะหมัดตอเฮด ท่านเกิดที่คลอง 18 หมู่ 6 ต.หมอนทอง อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา วันที่ 5 พฤษภาคม 2476 บุตรหะยีโซ๊ะ นายฮับเซาะห์ บินสอั๊ด การศึกษาสามัญ ประถมศึกษาปีที่ 4 ประถมศึกษาปีที่ 6 (กศน.) มัธยมต้น (กศน.) ในเวลาต่อมา ด้านศาสนาเรียนศาสนาเบื้องต้นกับครูแอ บ้านป่า มลายู ครูเลาะห์ฮะฟา มิตศิลปิน อรับ-มลายู กับอาจารย์อหมัด ซิฮาบุดดีน บินซอและ ที่หัวป่า และศึกษาที่ปอเนาะบุนุตปายา รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ด้านการสอน เมื่อกลับมาจากกกลันตันเริ่มสอนกิตาบทั้งอรับและมลายู ที่บ้านภริยาของท่าน ต่อมาได้ขยายมาสอนที่มัสยิดมีปอเนาะรายล้อมบ้านของท่านและมัสยิด เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี มีลูกศิษย์ทั้งกรุงเทพ ปทุมธานี นครนายก อยุธยา ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา และชลบุรี

ในปี 2501 ท่านจัดตั้งโรงเรียนมัธยมขึ้น ชื่อ โรงเรียนอิสลามฉะเชิงเทรา บึงสิงห์ เพื่อให้ผู้เรียนศาสนาได้ศึกษาด้านสามัญควบคู่กันไป เป็นโรงเรียนเอกชน ซึ่งต่อมาได้โอนให้กระทรวงศึกษาธิการ คือ โรงเรียนหมอนทองวิทยาในปัจจุบัน มีลูกศิษย์มากมาย ทำหน้าที่เป็นครูและหน้าที่อื่นอีก จากการที่ท่านมองอนาคตข้างหน้า ท่านได้ทำหน้าที่ต่าง ๆ เช่น อิหม่ามมัสยิดยามีอุ้ลคอยรอต กรรมการสมาคมคุรุสัมพันธ์ กรรมการ-ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา กอฏีประจำจังหวัด ประธานมูลนิธิอิสลามฉะเชิงเทรา

            ท่านก็ได้ลาออกทุกตำแหน่ง เมื่อชราภาพและถึงอะญัลของอัลลอฮ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 มกราคม 2556 ฝังกุบูรมัสยิดยามีอุ้ลคอยรอต คลอง18 อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

คัดมาจากเอกสาร สนง.คณะกรรมการอิสลามจังหวัดฉะเชิงเทรา อุละมาอในจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน -2559

 

 

อ.ฮูเซ็น (อรุณ) อีซอ

 (เกิด 2492 เสียชีวิต 2561 อายุ 69 ปี )

เกิดเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2492 อายุ 69 ปี เป็นบุตรชาย คนที่3 ของท่านอิหม่ามฮัจยีสุไลมาน อีซอ และฮัจยะห์ฮัฟเซาะห์ ลูกศิษย์จะเรียกกันติดปากว่า ลังเซ็น เกิดที่ ณ หมู่บ้านลำชะล่า คลอง16 ฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เด็กเรียนอัลกุรอานกับเยาะห์มาโดยตลอด และได้เรียนการอ่านกอรีกับครูยูซุฟ คลอง15 หลังจากนั้นเรียนกับอาจารย์มูร๊อต มุขตารี ที่พญาไท 2 ปี และไปเรียนต่อที่โรงเรียนอิสลามบูรณะศาสตร์ บางมะเขือ 2 ปี โดยท่านอาจารย์ มูฮัมหมัด กอฎีรี (ครูเด๊ะ) หลังจากนั้นเรียนต่อที่ โรงเรียนมิฟตาหุ้ลอุลูมมิดดีนี่ยะห์ บ้านดอน กับ ท่านอาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด เป็นเวลาอีก 9 ปี

หลังจากนั้นเดินทางไปเรียนต่อที่ เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิอารเบีย ทั้งหมด 18 ปี เป็นการศึกษาทั้งในสถาบัน และอาจารย์นอกสถาบัน ท่านศึกษาในสถาบันดารุ้ลอุลูม เมืองมักกะห์ ในระดับ อนุปริญญา โดยเรียนในรุ่นเดียวกับ ท่านอาจารย์อับดุลฮากีม วันแอเลาะ ท่านอาจารย์อิบรอฮีม พ่วงศิริ หลังจากนั้นเมื่อจบการศึกษาท่านไม่มีโอกาสได้ไปศึกษาต่อที่ไคโร ส่วนนอกสถาบันท่านได้ศึกษากับ ท่านอาจารย์อาลี (ไชยา) และท่านอาจารย์ฮูเซ็ง (สุราษฏธานี) พร้อมกับการศึกษากับอาจารย์ชาวอาหรับ เช่น ท่านซัยยิด อามีน ท่านอะห์หมัด บินอาลาวี่ ในฮารอม

ท่านได้แต่งงานกับ ฮัจยะห์ ซัยหนับ ทองทา ณ เมืองมักกะห์ พ.ศ.2519 มีลูกชายทั้งหมด 3 คน และลูกสาว 1 คน โดยลูกชายคนที่ 2 และ 3 เกิดที่มักกะห์ ลูก ชายคนโต ดร.สมีธ อีซอ (อาจารย์ใหญ่ปัจจุบัน) คนรอง ดร.วลีด อีซอ (อิหม่ามคนปัจจุบัน) คนที่สาม อ.ยาเบธ อีซอ และคนที่สี่ นัสรีน อีซอ หลังจากนั้นเมื่ออาศัยอยู่ที่มักกะห์ 18 ปี เยาะห์ของท่านอาจารย์มีความประสงค์ให้กลับมาเมืองไทยเพื่อเปิดโรงเรียนสอนศาสนา

หลังจากกลับมา ปี 2529 ท่านจึงก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นในระบบ ปอเนาะโดยใช้ชื่อว่า โรงเรียน ไซคอรี อิสลาม เป็นที่เริ่มทำการสอน ซึ่งโรงเรียนแห่งนี้เดิมที่เป็นโรงเรียนหลังไม้ที่สอนอัลกุรอานของมัสยิดดารุสสลาม มาก่อนหน้านี้แล้ว ณ หมู่บ้านลำชะล่า คลอง16 ฝั่งตะวันออก หมู่14 ต.ดอนฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา

บ้านเก่าท่านอาจารย์อยู่ฝั่งตะวันตกของคลอง16 (คนละฝังกับมัสยิด) โดยมีปอเนาะสร้างขึ้นอยู่หลังบ้านของท่าน ปอเนาะหลังไม้สร้างขึ้นในบริเวณหลังบ้านเก่าของอาจารย์โดยมีห้องประมาณ 15-20 ห้องเมื่อถึงเวลาเรียนจะเดินข้ามฝั่งไปยังอีกฝากหนึ่ง ไปยังฝั่งมัสยิด (ฝั่งตะวันออก) เพื่อทำการเรียนในอาคารหลังไม้ ไซคอรี อิสลาม ดังกล่าว

หลังจากนั้นได้ก่อตั้งอาคารเรียนหลังใหม่ อาคารคอนกรีต 3 ชั้น ในปี 2540 โดยมีอดีตท่านจุฬาราชมนตรี อาจารย์ประเสริฐ มะหะหมัด ให้เกียรติมาเป็นประธานพิธีวางรากฐาน และเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจากไซคอรีอิสลาม มาเป็น โรงเรียนดารุ้ลอุลูม

ปี พ.ศ.2546 เมื่อท่านอาจารย์ได้ย้ายบ้านมาอยู่ฝั่งตะวันออก ติดถนนคลอง16 (ฝั่งเดียวกับมัสยิด ตรงข้ามหน้าโรงเรียน) จึงทำการย้ายปอเนาะมาอยู่ที่หลังบ้านใหม่นี้ โดยเป็นการปลูกเป็นปอเนาะหลังไม้เหมือนเดิม หลังจากนั้นท่านได้สร้าง หอพักนักศึกษาใหม่เป็นอาคารคอนกรีต 3 ชั้น 21 ห้อง ซึ่งให้นักเรียนพักอาศัยอยู่จนมาถึงปัจจุบัน

ท่านอาจารย์ฮูเซ็น อีซอ ได้ถึงอายั้ล เสียชีวิต ในวันที่ 20 ธันวาคม 2561 ปัจจุบัน บรรดาลูกๆของท่านได้ทำการบริหารกิจการของโรงเรียนสืบต่อไป

 

ตำแหน่ง

  • ประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา
  • รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
  • ผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี
  • อิหม่ามประจำมัสยิดดารุสสะลาม คลอง16
  • อาจารย์ใหญ่สถาบันดารุ้ลอุลูม ปอเนาะ คลอง16
  • หัวหน้าเขตการศึกษาที่ 2 สมาคมคุรุสัมพันธ์แห่งประเทศไทย
  • อุปนายกสมาคมกอรีแห่งประเทศไทย